kindergarten
เด็กกับการเรียนรู้
เด็กเกิดมาพร้อมกับศักยภาพการเรียนรู้ และความอยากรู้อยากเห็นอย่างไม่มีขอบเขต ตั้งแต่ก่อนเกิดเด็กก็ได้เริ่มพัฒนากระบวนการเรียนรู้แล้ว โดยการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เด็กเกิดมาพร้อมกับความเฉลียวฉลาดด้านภาษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และจิตวิทยา ในช่วงแรกเกิด เด็กทารกมีอิสระในการดูแลการเรียนรู้ของตนเอง โดยที่เด็กจะเลือกสิ่งที่ต้องการเรียนและวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก หากเราลองไปทบทวนดูตัวเอง เราจะเห็นได้ว่าอัตราการเรียนรู้ในช่วงก่อนวัยเรียนอยู่ในระดับที่สูงมาก เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เช่น การฝึกพูด คำศัพท์และประโยคจำนวนมากที่เราใช้ตลอดชีวิตได้เริ่มพัฒนาขึ้นในวัยนี้ ดังนั้นเมื่อเริ่มเข้าเรียน เด็กจะได้รับและได้เรียนรู้ความรู้ แนวคิด ทักษะและค่านิยมมาแล้วระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่อายุวัยเรียน ในขณะที่ความอยากรู้อยากเห็นในตัวเด็กยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เด็กจะเริ่มเผชิญกับสถานการณ์ที่มีคำถามที่ยากขึ้นและไม่สามารถหาคำตอบได้จากสิ่งรอบๆ ตัวเอง จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่เด็กต้องการผู้ใหญ่ใจดีที่เข้าใจและเห็นใจเพื่อช่วยหาคำตอบ และพัฒนาสานต่อกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กอย่างเหมาะสม
“เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”
“Well Begun Is Half Done!” การเรียนรู้ระดับปฐมวัยนับเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้อย่างเป็นทางการในชีวิตของเด็ก ในช่วงระยะนี้เด็กยังคงต้องการเรียนรู้ของอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก อย่างไรก็ตามเมื่อเด็กเริ่มเข้าโรงเรียน เรามักจะไม่ค่อยได้เห็นความอยากรู้อยากเห็นเหมือนเช่นที่เคยมีในตอนก่อนวัยเรียน
ทั้งนี้มูลเหตุสำคัญอาจจะเป็น กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดจนเกินไป ลักษณะการจัดการเรียนการสอนที่น่าอึดอัด การสร้างทัศนคติผิดๆ โดยผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือที่เลวร้ายกว่านั้นคือ การที่ผู้รับผิดชอบการจัดการเรียนรู้มองว่าการเรียนเป็นภาระและหากจะให้เด็ก “เตรียมความพร้อม” ก็ไม่ควรสอน ซึ่งทำให้การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กที่เป็นมาตลอดตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ต้องหยุดชะงักไปอย่างน่าเสียดาย
การดำเนินการเรียนการสอนในระดับอนุบาลควรได้อาศัยธรรมชาติและความกระหายใคร่รู้ของเด็กเพื่อปูและปลูกฝังพื้นฐานสำคัญในด้านต่างๆ เป็นการสร้างความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในระดับชั้นต่อไป การจัดการเรียนรู้ดังกล่าวอาจครอบคลุมถึงการสร้างเจตคติที่ถูกต้องต่อตนเองและการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก และบ่มเพาะพัฒนาสติปัญญา โดยเฉพาะทักษะการคิด ความสามารถในการฟัง พูด อ่าน และเขียน อย่างคล่องแคล่ว และทักษะและความสามารถในตัวเลข จำนวน และแนวคิดทางคณิตศาสตร์สิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งอันหนึ่งก็คือ เป้าหมายในการพัฒนาเด็กเหล่านี้ไม่ได้เป็นเป้าหมายที่โรงเรียนจะเลือกได้เพียงอย่างเดียว
ในทางตรงกันข้ามเป้าหมายเหล่านี้เอื้อและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ประสบการณ์ของโรงเรียนอัตตาภิวัฒน์ได้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อโรงเรียนจัดให้มีบรรยากาศการเรียนรู้ที่อบอุ่นและเหมาะสมกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ ก่อให้เกิดการพัฒนาสติปัญญาในอัตราเร็วที่น่าประทับใจ ซึ่งส่งผลให้เด็กๆ มี ความมั่นใจในตนเอง และพัฒนาเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
แนวทางการจัดการเรียนรู้ปฐมวัย โรงเรียนอัตตาภิวัฒน์พัฒนาสี่ด้าน
เป้าหมายการพัฒนาวัตถุประสงค์รากฐานด้านอารมณ์-สังคม
เด็กๆ จะเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการมีส่วนร่วมในกิจกรรม
มีความมั่นใจในตนเองในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง
ร่วมทำกิจกรรมด้วยตนเองและอย่างมั่นใจ
|
เคารพและเอาใจใส่กับความรู้สึกและสิทธิของผู้อื่น
รู้จักรับผิดชอบในพฤติกรรมของตน
รู้จักอารมณ์ของตนและพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
เข้าใจถึงความจำเป็นในการดูแลสิ่งแวดล้อมและโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
|
เป้าหมายการพัฒนาวัตถุประสงค์รากฐานด้านร่างกาย
เด็กๆ จะเข้าร่วมในกิจกรรมที่ออกแบบเพื่อให้เด็กได้เห็นคุณค่าและได้สนุกสนานในการเคลื่อนไหวร่างกาย
เข้าร่วมในกิจกรรมที่ออกแบบเพื่อเริ่มบ่มเพาะนิสัยของการพัฒนาความแข็งแรงของร่างกายไปตลอดชีวิต ได้แก่ ความคงทนของกล้ามเนื้อและระบบหัวใจ ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และการดูแลน้ำหนักของตน
เข้าร่วมในกิจกรรมที่เพิ่มพูนความเข้าใจในสิ่งกระตุ้นของสัมผัสต่างๆ
เข้าร่วมกิจกรรมที่ส่งเสริมการดูแลและเอาใจใส่ต่อร่างกายของตน
|
เข้าร่วมในกิจกรรมที่ออกแบบเพื่อปรับปรุงทักษะการเคลื่อนไหว
|
เป้าหมายการพัฒนาวัตถุประสงค์รากฐานด้านสติปัญญา
เด็กๆ จะพัฒนาทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้
เรียนรู้แนวคิดและข้อมูลต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต
พัฒนาทักษะการคิดอย่างตรรกะ
แสดงความสนใจในประสบการณ์การเรียนรู้ในอนาคต
สานต่อประสบการณ์ที่มีอยู่ในลักษณะที่จะขยายความเข้าใจในแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งให้กว้างขวางยิ่งขึ้นหรือเพื่อได้แนวคิดใหม่
|
พัฒนาความสามารถในการฟังเพื่อให้เข้าใจความหมายและความตั้งใจของผู้อื่น
ใช้ภาษาเพื่อสื่อความหมายในสิ่งที่พวกเขาสังเกตเห็น รู้สึก คิด ได้ยิน ได้รส และได้กลิ่น
มีความสนใจและตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่อประสาทสัมผัสไม่ว่าในกลุ่มหรือเป็นรายบุคคล
มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ส่งเสริมการแสดงออก
สร้างโลกในจินตนาการโดยใช้วัสดุ
แสดงความสนใจที่จะเข้ามีส่วนร่วมในการสำรวจแบบรูป เสียง และเสียงสัมผัสของภาษาระหว่างกิจกรรมการฟัง การร้องเพลง และการพูด
พัฒนาความรู้ว่าสิ่งพิมพ์และสัญลักษณ์ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวถ่ายทอดความหมาย
|
ขอบเขตเนื้อหา
เนื้อหาในกิจกรรมการเรียนรู้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ 4ลักษณะ ได้แก่
- เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก
- เรื่องราวเกี่ยวกับบุคลและสิ่งแวดล้อม
- ธรรมชาติรอบตัว
- สิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก
สาระการเรียนรู้
โรงเรียนอัตตาภิวัฒน์จัดการเรียนรู้ในระดับปฐมวัยโดยใช้แนวทางของธีม (Theme approach) ไม่เน้นการสอนเป็นรายวิชาเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้ อย่างไรก็ตามในระดับการวางแผนขอบเขตและกระบวนการเรียนรู้ โรงเรียนฯ ได้กำหนดให้การจัดการเรียนรู้ครอบคลุมสาระการเรียนรู้ต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ สุขศึกษา ดนตรี ทัศนศิลป์ และสังคมศึกษา ตัวอย่างเช่น ขอบเขตสาระวิทยาศาสตร์จะครอบคลุมวิทยาศาสตร์ทั้งสามสาขาได้แก่ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์โลก และวิทยาศาสตร์กายภาพ
ในขณะที่ในส่วนของสาระคณิตศาสตร์จะครอบคลุมถึง การคัดแยกและการจำแนก แบบรูป จำนวน เรขาคณิต เงินและเวลา ชั่งตวงวัด ข้อมูลและกราฟ การบวกและลบ
แนวทางการจัดการเรียนรู้โดยอาศัยธีม (Theme Approach)
การจัดการเรียนรู้แบบธีมเป็นแนวทางที่หลักสูตรระดับมาตรฐานโลกนิยมใช้กันโดยทั่วไป โรงเรียนอัตตาภิวัฒน์ได้ยึดถือแนวทางนี้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยมาโดยตลอด และพบว่าเด็กๆ ประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีน่าประทับใจ แนวทางการสอนนี้จะใช้การกำหนดหัวข้อหลักและหัวข้อย่อย และวางแผนตามหััวข้อที่กำหนดและขอบเขตการเรียนรู้ของกลุ่ม สาระต่างๆที่สอดคล้องกับหัวข้อนั้น
คณะครูและผู้บริหารได้ทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดหัวข้อธีมที่เหมาะสมกับเด็ก หัวข้อเรื่องที่เป็นท่ีนิยมใช้ได้แก่ แรกพบ Myself สัตว์ ผีเสื้อ การขนส่ง ฤดูกาล และประสาทสัมผัส เป็นต้น ผังในรูปต่อไปเป็นภาพรวมของหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ระดับปฐมวัยของโรงเรียนฯ